ศิลปะการสลักผักผลไม้ที่คงอยู่คู่กับวัฒนธรรมไทย

FZAAZ_d13การแกะสลักจัดเป็นศิลปะประเภทหนึ่งที่รวมอยู่ในสาขาประติมากกรรม แต่ที่แตกต่างก็คือกรรมวิธีของการแกะสลักคือการเฉือนออก และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากจะทำรายได้ให้กับผู้ผลิตแล้วยังเป็นอุตสาหกรรมที่แสดงออกถึงความมีศิลปะอันประณีตของชาติไทยอีกด้วย การแกะสลักเป็นเทคนิคการสร้างสรรค์งานประติมากรรมมาแต่โบราณ ในการสร้างสรรค์จะต้องวางแผนงานไว้ก่อน เพราะการแกะสลักออกไปแล้วไม่สามารถจะเพิ่มเข้าไปใหม่อีกได้ เพราะวัสดุที่ใช้แกะสลักนั้นเป็นชนิดของแข็ง ได้แก่ หิน ไม้ ส่วนในการศึกษาของนักเรียนนั้นอาจจะใช้วัสดุจำพวกไม้เนื้ออ่อน สบู่ ปูนปลาสเตอร์ ผัก ผลไม้ เป็นต้น

ปัจจุบันองค์ความรู้การประดิษฐ์สร้างสรรค์ศิลปะแขนงนี้แพร่ขยายกว้างขวางออกสู่ชุมชน ปรากฏหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาโรงเรียนและยังแพร่หลายไปในต่างประเทศบอกเล่าวิถีวัฒน ธรรมมรดกไทย และด้วยเอกลักษณ์คุณค่าในงานช่างแกะสลักผักผลไม้ นอกจากเด่นชัดในด้านประโยชน์ใช้สอย โดยแบ่งได้ตามลักษณะการใช้งาน งานแกะสลักยังให้คุณค่าทางด้านจิตใจ สร้างสมาธิความภาคภูมิใจและเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ทรงคุณค่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญและเพื่อธำรงรักษางานแกะสลักคงอยู่คู่กับวัฒนธรรมไทย การแกะสลักผักและผลไม้เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยเลยทีเดียว ซึ่งไม่มีชาติใดสามารถเทียมได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในปัจจุบันนี้เห็นจะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ศิลปแขนงนี้ที่มีแนวโน้มจะสูญหายไปหรือลดน้อยลงไปเรื่อย

การสลักผักผลไม้นอกจากจะเป็นการฝึกสมาธิแล้วยังเป็นการฝึกฝีมือให้เกิดความชำนาญเป็นพิเศษ และต้องมีความมานะ อดทน ใจเย็น และมีสมาธิเป็นที่ตั้ง รู้จักการตกแต่ง มีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานจ้องให้จิตใจทำไปพร้อมกับงานที่กำลังสลักอยู่ จึงได้งานสลักที่สวยงามเพริศแพร้วอย่างเป็นธรรมชาติ ดัดแปลงเป็นลวดลายประดิษฐ์ต่างๆตามใจปรารถนา เป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่ถือเป็นมรดกล้ำค่าที่สืบทอดกันมายาวนาน เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความถนัด ความสามารถเฉพาะตัว และความละเอียดอ่อนมาก การแกะสลักจึงเป็นศิลปะที่ไม่ตาย สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ ปัจจุบันชาวต่างชาติให้ความสนใจศิลปะการแกะสลักมาก ดังนั้นคนไทยทุกคนควรหันมาให้ความสนใจศิลปะแขนงนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่และช่วยสืบทอดศิลปะอันงดงามของไทยให้คงอยู่ตลอดไป