ศิลปะการสลักผักผลไม้ที่คงอยู่คู่กับวัฒนธรรมไทย

FZAAZ_d13การแกะสลักจัดเป็นศิลปะประเภทหนึ่งที่รวมอยู่ในสาขาประติมากกรรม แต่ที่แตกต่างก็คือกรรมวิธีของการแกะสลักคือการเฉือนออก และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากจะทำรายได้ให้กับผู้ผลิตแล้วยังเป็นอุตสาหกรรมที่แสดงออกถึงความมีศิลปะอันประณีตของชาติไทยอีกด้วย การแกะสลักเป็นเทคนิคการสร้างสรรค์งานประติมากรรมมาแต่โบราณ ในการสร้างสรรค์จะต้องวางแผนงานไว้ก่อน เพราะการแกะสลักออกไปแล้วไม่สามารถจะเพิ่มเข้าไปใหม่อีกได้ เพราะวัสดุที่ใช้แกะสลักนั้นเป็นชนิดของแข็ง ได้แก่ หิน ไม้ ส่วนในการศึกษาของนักเรียนนั้นอาจจะใช้วัสดุจำพวกไม้เนื้ออ่อน สบู่ ปูนปลาสเตอร์ ผัก ผลไม้ เป็นต้น

ปัจจุบันองค์ความรู้การประดิษฐ์สร้างสรรค์ศิลปะแขนงนี้แพร่ขยายกว้างขวางออกสู่ชุมชน ปรากฏหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาโรงเรียนและยังแพร่หลายไปในต่างประเทศบอกเล่าวิถีวัฒน ธรรมมรดกไทย และด้วยเอกลักษณ์คุณค่าในงานช่างแกะสลักผักผลไม้ นอกจากเด่นชัดในด้านประโยชน์ใช้สอย โดยแบ่งได้ตามลักษณะการใช้งาน งานแกะสลักยังให้คุณค่าทางด้านจิตใจ สร้างสมาธิความภาคภูมิใจและเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ทรงคุณค่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญและเพื่อธำรงรักษางานแกะสลักคงอยู่คู่กับวัฒนธรรมไทย การแกะสลักผักและผลไม้เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยเลยทีเดียว ซึ่งไม่มีชาติใดสามารถเทียมได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในปัจจุบันนี้เห็นจะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ศิลปแขนงนี้ที่มีแนวโน้มจะสูญหายไปหรือลดน้อยลงไปเรื่อย

การสลักผักผลไม้นอกจากจะเป็นการฝึกสมาธิแล้วยังเป็นการฝึกฝีมือให้เกิดความชำนาญเป็นพิเศษ และต้องมีความมานะ อดทน ใจเย็น และมีสมาธิเป็นที่ตั้ง รู้จักการตกแต่ง มีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานจ้องให้จิตใจทำไปพร้อมกับงานที่กำลังสลักอยู่ จึงได้งานสลักที่สวยงามเพริศแพร้วอย่างเป็นธรรมชาติ ดัดแปลงเป็นลวดลายประดิษฐ์ต่างๆตามใจปรารถนา เป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่ถือเป็นมรดกล้ำค่าที่สืบทอดกันมายาวนาน เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความถนัด ความสามารถเฉพาะตัว และความละเอียดอ่อนมาก การแกะสลักจึงเป็นศิลปะที่ไม่ตาย สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ ปัจจุบันชาวต่างชาติให้ความสนใจศิลปะการแกะสลักมาก ดังนั้นคนไทยทุกคนควรหันมาให้ความสนใจศิลปะแขนงนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่และช่วยสืบทอดศิลปะอันงดงามของไทยให้คงอยู่ตลอดไป

ศิลปินและนักออกแบบใช้จินตภาพแปลงความคิด

ในการสร้างงานใดๆ ก็ตาม ผู้ออกแบบการแสดงจะต้องสามารถอธิบายรายละเอียดของงาน ความหมายหรือสิ่งที่ต้องการจะสื่อให้ผู้แสดงได้รับทราบอย่างละเอียด เพราะผู้แสดงจะเป็นผู้ถ่ายทอดผลงานทางความคิดให้ปรากฏแก่สายตาของผู้ชม ให้ได้รับรู้ถึงจินตนาการทางความคิดของผู้สร้างงาน ผู้ออกแบบการแสดงที่ดีจึงนิยมคัดเลือกผู้แสดงผลงานของตนด้วยตัวเอง เพื่อให้ตรงกับผลงานอันจะทำให้สัมฤทธิผลใกล้เคียงที่สุด และการที่ผู้ออกแบบการแสดงรู้จักผู้แสดงเป็นอย่างดี ก็จะเอื้อประโยชน์แก่ผู้ออกแบบการแสดงได้ โดยนำความสามารถเฉพาะตัวของผู้แสดงมานำเสนอนั่นเอง ส่วนคุณสมบัติที่ดีของผู้แสดง ก็คือ การเคารพในความคิดของผู้ออกแบบการแสดง หมายความว่าผู้แสดงจะต้องเชื่อมั่นและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ออกแบบการแสดง แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้แสดงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้เลย ผู้แสดงควรสำนึกในมารยาทของการเป็นผู้ถ่ายทอดผลงาน การแสดงความคิดเห็นจะอยู่ในขอบเขตที่พึงกระทำได้ เช่น ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ออกแบบได้ เนื่องจากขีดจำกัดทางความสามารถ ความขัดแย้งของท่ากับทิศทางหรือความบกพร่องใดๆ ก็ตาม ผู้แสดงสามารถแจ้งหรือแนะนำแก่ผู้ออกแบบได้ โดยการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบเท่านั้น

ในการร่วมงานระหว่างผู้ออกแบบและผู้แสดง จำเป็นต้องอาศัยการถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการทำงาน ดังนั้นหากทุกคนรู้หน้าที่และขอบเขตของการทำงานแล้ว ผลงานการแสดงก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น

ในกระบวนการออกแบบการแสดงนั้น นอกเหนือจากการที่ผู้ออกแบบจะสามารถสื่อสารกับผู้แสดงได้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ในขั้นตอนการนำเสนองานเพื่อของบประมาณสนับสนุนการแสดง หรือเพื่อเสนอขายผลงานนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ออกแบบจะต้องสามารถอธิบายจินตภาพที่ได้วาดไว้ในสมองนั้น สื่อสารให้ผู้อำนวยการสร้าง ผู้ลงทุน ผู้ให้การสนับสนุนเชื่อถือในความคิด และเห็นคล้อยตามได้ว่าการแสดงนั้นจะประสบความสำเร็จและคุ้มค่าแก่การลงทุนจัดแสดงเพียงใด นักออกแบบการแสดงในประเทศอาจยังมีข้อด้อยในการนำเสนอในลักษณะ เพราะบางครั้งความเป็นตัวตน (Ego) ของผู้ออกแบบที่มีความเป็นศิลปินสูง ไม่สามารถถ่ายทอดความคิดเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำความเข้าใจในกระบวนการนำเสนอผลงานจะยังประโยชน์แก่ผู้ออกแบบได้เป็นอย่างดี

เทคนิคการเขียนภาพด้วยสีและอุปกรณ์ต่างๆ

สำหรับเทคนิคและวิธีการเขียนภาพ มีดังนี้

1.ภาพเขียนดินสอ  มีวิธีการเขียนหลายวิธี ตามลักษณะที่เหมาะสมของไส้ดินสอที่แข็งหรืออ่อน  ดินสอที่แข็งเหมาะสำหรับการฝนและแรงเงาที่ประณีต ส่วนดินสออ่อนนั้นเหมาะสำหรับการเขียนภาพร่าง ด้วยการเหลาดินสอเป็นแผ่นแบน  ชนิดของดินสอได้แก่ H จนไปถึง 7H และมีอ่อนธรรมดา คือ  B จนถึงอ่อนมาก 6B ซึ่งช่วยให้ศิลปินสามารถเขียนภาพลายเส้นดินสอได้ลักษณะต่างๆ

2.ภาพเขียนชอล์ก ซึ่งชอล์กที่ใช้ในการเขียนจะมีเนื้อละเอียดและมีสีสวยงามกว่าชอล์กเขียนกระดานดำ โดยชอล์กมีความสะดวกและคุณสมบัติในการเขียนเหมาะสำหรับเขียนภาพฝึกหัด

3.ภาพเขียนพาสเทล สำหรับพาสเทลนั้นศิลปินใช้ในการเขียนร่างภาพในการทำงานขั้นต้น หรือใช้เป็นการเขียนภาพใช้จริงเลย

4.ภาพเขียนหมึก โดยภาพเขียนแต่ละภาพนั้นจะใช้หมึกเพียงสีเดียวเป็นสำคัญ แต่ศิลปินอาจจะใช้สีที่มีคุณค่าอ่อนแก่แตกต่างกันได้ ศิลปินจะเลือกใช้ปากกาชนิดต่างๆ  ตามที่ตนถนัด และจะต้องเขียนด้วยปากกาหรือพู่กันชนิดและขนาดต่างๆ ด้วยความชำนาญ จึงจะสามารถเขียนภาพหมึกได้งดงาม

5.ภาพเขียนสีถ่าน สามารถที่จะใช้ถ่านเขียนเป็นแผ่นบางๆ ปกคลุมเนื้อที่ใหญ่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว  ด้วยการใช้คุณค่าของความอ่อนแก่ของสีของถ่านจะได้ผลงดงาม กระดาษสำหรับเขียนสีถ่านควรเป็นกระดาษที่มีพื้นผิวละเอียดอ่อนนุ่ม  จะเขียนได้งดงามกว่ากระดาษวาดเขียนทั่วไป ทั้งนี้จะสกปรกและเสียหายได้ง่าย  จึงควรพ่นด้วยน้ำยาเคลือบบางๆ เพราะจะช่วยให้สวยงามและคงทนขึ้นได้

6.ภาพระบายสีด้วยสีเทียน เป็นการสร้างภาพที่สามารถทำได้ง่ายเพราะใช้อุปกรณ์ไม่มาก แต่การทำให้ภาพสวยงามต้องอาศัยการฝึกวาดอยู่เสมอ

7.ภาพเขียนสีน้ำ จะมีเทคนิควิธีการแตกต่างกัน ตามความถนัดและความสามารถเฉพาะตน ถ้าได้ศึกษาฝึกเขียนจนเกิดความชำนาญแล้วขั้นตอนจะไม่ตายตัว แต่มีหลักเกณฑ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมชาติของการเขียนสีน้ำที่ควรคำนึง คือ การลงน้ำหนักจากอ่อนไปหาเข้ม

ดังนั้น หากผู้ที่สนใจจะเป็นนักวาดภาพหรือเพื่อเป็นแนวทางในการเขียนภาพวาดและการลงสีต่างๆ สามารถที่จะนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานได้

พิพิธภัณฑ์ศิลปะในขวดแก้วกับสถานที่น่าหลงใหล

พิพิธภัณฑ์ศิลปในขวดแก้ว เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานแบบจำลองสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในขวดแก้ว โดยฝีมือการสร้างสรรค์ของ คุณประไพศรี ไทพาณิชย์ ศิลปินร่วมสมัยชาวชลบุรี กับมิสเตอร์ ปีเตอร์ เบย์ เดอเลย์ ศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้เป็นอาจารย์ของคุณประไพศรี และเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เมื่อ พ.ศ. 2538 โดยสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ศิลปะในขวดแก้วยุคใหม่ ได้ย้ายสถานที่จัดแสดงมาอยู่ที่ The Kingston Park ศูนย์การเรียนรู้ และแหล่งบันเทิงศึกษาครบวงจรแห่งแรกในเมืองพัทยา ภายในพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ แบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ห้อง ไล่เรียงจากผลงานชิ้นง่ายจนถึงผลงานชิ้นเอกของ อ.ประไพศรี ซึ่งใช้เวลาในการสร้างนานนับปี ในการสร้างงานศิลปะทรงคุณค่าเหล่านี้ ซึ่งมีแสดงดดยแยกเป็นโซนการแสดงต่างๆดังนี้

โซนที่ 1 เป็นห้องจัดแสดงกระบวนการผลิต  ได้แก่ สร้างรูปจำลอง (Model) จากภาพถ่ายโดยใช้วัสดุที่สามารถตัดแยกเป็นชิ้นเล็กได้ ตกแต่งบริเวณโดยรอบด้วยกิ่งไม้แห้ง หญ้าพลาสติก ดอกไม้กระดาษเล็กๆ หิน ทราย ให้เหมือนจริง โดยเลือกขวดแก้วใสให้ได้ขนาดและรูปทรงเหมาะสมกับ Model นั้น ทำความสะอาด ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท จากนั้นรองพื้นขวดด้วยดินน้ำมันเพื่อยึดชิ้นงาน และตัดแยกชิ้นส่วนให้เป็นชิ้นเล็กๆขนาดพอที่จะนำผ่านปากขวดเข้าไป ดังนั้นการสร้างงานศิลปะใน ขวดแก้วแต่ละผลงาน จึงต้องใช้เวลานานมากและต้องใช้ความอดทนสูงหลังจากนั้นใช้พู่กันที่ดัดปลายให้งอ เกลี่ยสีปิดตรงรอยต่อของชิ้นส่วน เพื่อให้ผลนั้นงานสวยงามยิ่งขึ้นเมื่อเรียบร้อยแล้วก็ทำความสะอาดขวดแก้วอีกครั้งทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก็จะได้ผลงานศิลปะในขวดแก้วที่ สวยงาม

โซนที่ 2 เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ บ้านและที่อยู่อาศัย โดยการจำลองบ้านอยู่อาศัยของผู้คนแต่ละชุมชน แต่ละ ท้องถิ่น แต่ละประเทศ จะเห็นได้ว่าแบบบ้าน หรือรูปทรงของบ้านในแต่ละท้องถิ่น มีความแตกต่างกันตามประโยชน์ใช้สอยซึ่งสามารถบ่งบอกถึงสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศของชุมชนนั้นๆได้เป็นอย่างดี

โซนที่ 3 เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการความเชื่อทางศาสนา ในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้นั้น จำเป็นต้องมีกฎ มีระเบียบ มีกติกา ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ จึงเกิดมีประเพณีปฏิบัติ ความเชื่อทางศาสนาของชุมชนแต่ละชุมชนแตกต่างกันออกไป และยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นนั้นๆ

โซนที่ 4 เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ ไฮไลต์ ของพิพิธภัณฑ์ เป็นการจัดแสดงเรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงและสวยงาม ของหลายๆ ประเทศในโลก โดยจำลองไว้ในขวดแก้วรูปทรงหยดน้ำขนาดใหญ่ที่หายาก และต้องนำเข้าจากประเทศอิตาลีเป็นส่วนใหญ่ การสร้างรูปจำลองในขวดแก้วขนาดใหญ่เป็นงานที่สร้างยากที่สุด

ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ศิลปในขวดแก้วถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว เหมาะสำหรับการนำนักเรียนไปทัศนศึกษาหรือพาเด็กๆไปเที่ยวชมในวันหยุด

ความนิยมในการวาดภาพด้วยสีน้ำมันมาอย่างช้านาน

1_display
ภาพวาดสีน้ำมัน เป็นสุดยอดในบรรดาภาพวาดทั้งหลาย ทั้งความนิยมและราคา ภาพสีน้ำมันสามารถเก็บได้นานเป็นเป็นร้อยๆปี เช่น ภาพโมนาลิซ่าของลีโอนาโด ดาวินซี่ เป็นต้น สามารถออกแบบสีได้หลากหลาย มีราคาสูงเมื่อเทียบกับภาพเขียนสีชนิดอื่น อุปกรณ์ที่ใช้มีราคาแพงกว่า เหตุที่เก็บได้นานเพราะวัสดุพื้นรองวาดใช้ผ้าใบมีการทำสีรองพื้น ทั้งการใช้น้ำมันและสีที่ใช้เป็นสิ่งช่วยให้ภาพคงทน สีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาเปลี่ยนไป เป็นสีที่นิยมใช้ในงานศิลปะมากว่า 500 ปี สืบเนื่องจากการที่มนุษย์ต้องการให้ภาพวาดของตนมีความคงทนถาวรมากกว่าการใช้น้ำผสมสี จึงมีการคิดนำเอาเนื้อสีจากธรรมชาติมาผสมกับน้ำมัน ศิลปินในอดีตนิยมใช้สีน้ำมันเนื่องจากมีความคงทน เก็บรักษาได้นานนับร้อยปี และเมื่อมีบริษัทผู้ผลิตคิดนำสีน้ำมันมาบรรจุหลอดขาย ก็ยิ่งทำให้การใช้งานสะดวกสบายขึ้น สีน้ำมันจึงเป็นที่นิยมของเหล่าศิลปินมาจนทุกวันนี้

ประเภทของสีน้ำมันที่ใช้ในการวาดภาพ

1.สีน้ำมันแบบดั้งเดิม เลือกใช้ได้สองลักษณะ สีน้ำมันสำหรับศิลปินมีหลากหลายสี ผลิตจากรงควัตถุที่มีความเข้มข้นสูงและมีสีที่เด่นชัด
2.สีน้ำมันแห้งเร็ว ใช้ได้ตั้งแต่กลวิธีระบายสีหนาจนถึงการระบายฉาบสี เป็นสีที่แห้งเร็วกว่าสีน้ำมันแบบดั้งเดิม สีกริฟฟินมีความโปร่งแสงมากกว่าสีทั่วไป
3.สีน้ำมันผสมน้ำ เป็นสีน้ำมันลักษณะใหม่ ซึ่งใช้ผสมน้ำแทนน้ำมันผสมสี มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับสีน้ำมันที่นิยมกัน สีน้ำมันชนิดนี้เหมาะกับการใช้ในโรงเรียนและในสตูดิโอ
4.สีน้ำมันแท่ง เป็นสีน้ำมันชนิดแท่ง มีความนุ่มนวลเข้มข้น ใช้เขียนภาพได้ทันที มีคุณสมบัติเหมือนสีที่นิยมกันทั่วๆไป ไม่ใช่สีเทียนหรือสีชอล์ก เนื้อสีของสีน้ำมันแท่ง มีความถาวรสูง
5.การผสมผสานสีน้ำมันที่ต่างกัน สีลักษณะต่างๆเหล่านั้นสามารถใช้ผสมผสานกันได้ มีข้อยกเว้นดังนี้ไม่แนะนำให้ใช้สีน้ำมันแท่งหนาๆใต้สีชนิดอื่น เมื่อใช้สีน้ำมันผสมสีน้ำอาทีซาน สีชนิดอื่นก็ไม่ควรใช้ร่วม

ขั้นตอนการวาดภาพสีน้ำมัน

1. ร่างภาพลงบนแคนวาสด้วยดินสอดำ ดินสอสี หรือแท่งถ่านเกรยองก่อนลงสีรูป
2. ตกแต่งภาพร่างให้เหมาะสม
3. ผสมสีน้ำมันด้วยลินสีดหรือน้ำมันสน หรือลิควิน ให้มีความหนืดพอเหมาะ
4. ระบายสี ส่วนรวมเป็นบรรยากาศของภาพทั้งหมดด้วยพู่กันขนาดใหญ่
5. เพิ่มรายละเอียดของสีและแสงเงาในภาพให้ใกล้เคียงกับแบบ
6. ตกแต่งรายละเอียดของภาพโดยใช้พู่กันขนาดเล็ก
7. เมื่อสีแห้งสนิทแล้ว เคลือบด้วยวานิช

พิพิธภัณฑ์แสดงศิลปะมาดามทุสโซ ที่มีประวัติยาวนานจากฝรั่งเศส

พิพิธภัณฑ์แสดงศิลปะมาดามทุสโซ มีประวัติอันยาวนานกว่า 200 ปีมาแล้วในกรุงปารีส ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งบุคคลที่มีชื่อเสียงได้รับคัดเลือกให้เป็นแบบในการปั้นหุ่นขี้ผึ้ง สิ่งที่ทำให้หุ่นขี้ผึ้งของมาดามทุสโซมีชื่อเสียงได้นั้น มากจากงานที่ประณีต งานการปั้นหุ่นขี้ผึ้งที่ “เหมือนคนจริง” มากที่สุด ทั้งส่วนสูง รูปร่าง หน้าตา รวมไปถึงเครื่องแต่งกาย ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น โดยทีมงานมืออาชีพที่ใช้เวลากว่า 4-6 เดือนในการปั้นหุ่นแต่ละตัว อีกทั้งยังให้ผู้ที่ชื่นชอบคนดังสามารถเข้าไปใกล้ชิดและถ่ายรูปกับบุคคลเหล่านั้นได้

พิพิธภัณฑ์แสดงศิลปะมาดามทุสโซ ได้จัดการแสดงขึ้นในไทยเป็นแห่งที่ 10  พร้อมด้วยหุ่นขี้ผึ้งมากกว่า 75 ตัว ให้คุณเต็มเปี่ยมกับประสบการณ์อินเตอร์แอคทีฟ ที่ให้มาดามทุสโซเป็นมากกว่าพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง คุณสามารถร่วมถ่ายภาพและคลุกคลีอย่างใกล้ชิดกับหุ่นทุกตัวราวกับการพบปะบุคคลสำคัญบนพรมแดง หรือจะท้าประลองกับนักกีฬาคนโปรดและขึ้นเวทีกับนักร้องที่คุณชื่นชอบ ทั้งหมดทำได้ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ

ในห้องจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งนั้นถูกแบ่งออกเป็นหลากหลายห้อง โดยแต่ละห้องจะแบ่งบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆไว้ด้วยกัน ซึ่งเมื่อผ่านช่องขายตั๋วมาแล้วจะมีห้องแรกที่จัดแสดงเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระราชวงศ์จักรีตลอดยุคสมัยอันยาวนาน นอกจากนี้ยังมีความรู้ในราชวงศ์ต่างๆให้ได้ศึกษากันด้วย ในห้องถัดมา จะเป็นห้องที่รวบรวมหุ่นของบุคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศจากทั่วโลก และยังมีประวัติให้ได้ศึกษากันด้วย หลังจากเยี่ยมชมภายในพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีห้องที่อยู่ชั้นบนสุดที่จะพบกับรูปปั้นของ มาดาม มารี ทุสโซ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ โดยในห้องนี้จะเป็นส่วนที่ใช้ในการจัดแสดงถึงประวัติของพิพิธภัณฑ์และกรรมวิธีการทำหุ่นขี้ผึ้งแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด เพื่อให้เราได้ศึกษากันด้วย

สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาประวัติคนที่มีชื่อเสียงในอดีตหรือมีความชื่นชอบส่วนตัวในบุคคลต่างๆ สามารถเข้ามาเยี่ยมชม และกระทบไหล่ดาราที่ชื่นชอบได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังมีโซนกิจกรรมมากมายเพื่อสร้างความสนุกสนานอีกด้วย

Phuket Trickeye Museum กับห้องแสดงผลงานด้านศิลปะ

Phuket Trickeye Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ภาพวาด 3 มิติที่สามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของศิลปะ 3 มิติแบบเต็มๆ ซึ่งทุกภาพสร้างสรรค์โดยจิตรกรชาวเกาหลีโดยใช้เทคนิคการวาดภาพลวงตาให้ความรู้สึกเสมือนจริง สำหรับในพิพิธภัณฑ์สามมิติจะมีการจัดแบ่งโซน ประกอบไปด้วย โซน Classic In Flameที่มีการรวมภาพวาดที่มีชื่อเสียงของจิตรกรชื่อดังต่างๆ มาล้อเลียนไว้โซน U Varietyจะรวบรวมภาพหลากหลายอารมณ์ ทั้ง ตลก สนุกสนาน แปลกตา ไว้ด้วยกัน
โซน Tee Lor Su Waterfall จะเป็นการจำลองส่วนหนึ่งของน้ำตกทีลอซูมาไว้โซน Primitive จะเป็นการรวบรวมภาพโบราณ ดึกดำบรรพ์ ภาพศิลปะเรื่องเล่าในอดีต และโซน Body Move ต้องใช้ร่างกายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพวาด 3 มิตินั้นๆ จากที่กล่าวมานี้จะมีภาพวาดแบบ 3 มิติได้มากกว่า 100 ภาพ โดยภายในพิพิธภัณฑ์สามมิตินั้นถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ชั้น ซึ่งชั้นแรกจะเน้นเป็นภาพการผจญภัยต่างๆชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งด้านบนจะถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ

ทั้งนี้ภายในพิพิธภัณฑ์สามมิติ จะมีภาพวาดที่บ่งบอกถึงความเป็นเมืองภูเก็ตตรงกับเจตนารมณ์ของผู้สร้างที่ต้องการอนุรักษ์ไว้ นอกจากนี้จะมีภาพวาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพน้ำตกทีลอซู เป็นภาพที่ใหญ่ที่สุด เป็นจุดที่เด่นและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอย่างมากภาพวาดปีกนางฟ้า ที่ใครได้เห็นเป็นต้องเอาหลังตัวเองมาวางกับกำแพงแอ๊คท่าน่ารักภาพวาดถูกฉลามกิน ที่จินตนาการตามภาพว่ากำลังถูกเขมือบกันเป็นแถว นอกจากที่กล่าวมานี้ยังมีภาพวาดต่างๆอีกมากมายที่ให้ได้ชื่นชมและเก็บภาพน่ารักๆ ไว้เป็นที่ระลึก

ทั้งนี้การแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากจะทำ ให้ทุกๆ คนสามารถเข้าใจงานศิลปะอย่างง่ายดายแล้ว ยังทำให้เพลิดเพลินกับงานศิลปะและสร้างความสนุกสนานกับทั้งครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อนพ้องน้องพี่ และคู่รัก รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยอีกด้วยทุกๆ ห้องผู้ชมสามารถ เข้าชมและสัมผัสกับศิลปะได้อย่างใกล้ชิด ฉะนั้นหากผู้ที่กำลังหาแหล่งท่องเที่ยว สำหรับพิพิธภัณฑ์ภาพวาด 3 มิติPhuket Trickeye Museumนั้นนับว่าเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวอีกที่หนึ่งได้เป็นอย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว

บทบาทและหน้าที่ของศิลปินนั้นมีอยู่มากมายด้วยกัน

24

ท่ามกลางการผันแปรของสังคม  ศิลปินจึงเกิดขึ้นเสมอและมีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นไปตามสภาพธรรมชาติของมนุษย์ ที่เบื่อหน่ายต่อความซ้ำ ๆ ซาก ๆ และจำเจ แหล่งกำเนิดของศิลปินนั้นก็คือสถาบันการศึกษาศิลปะ หากพิจารณาดูหลักสูตรและวิธีการศึกษาศิลปะในสำนักศึกษา แต่ละแห่งต่างคิดค้นหาวิธีให้ผู้ศึกษามีความรู้ ความสามารถตามเป้าหมายที่กำหนดไว้  บางแห่งก็ยึดถือเอาฝีมือมาก่อนความคิดมีการศึกษาค้นคว้าจากธรรมชาติโดยตรงจากนั้นจึงค่อยพัฒนาตนเองสู่แนวการสร้างสรรค์ บางสำนักก็ถือว่าความรู้มาก่อนฝีมือตัดทอนการศึกษาโดยตรงจากธรรมชาติเขาสู่แนวทางแห่งการสร้างสรรค์โดยทางลัด บางสำนักก็ตัดปัญหาศึกษาแต่ของดีที่ศิลปินสมัยต่าง ๆ ได้ทำได้ค้นคว้ามาอย่างถูกต้องถ่องแท้ผู้ศึกษามีหน้าที่ลอกเลียนและจดจำ สามารถนำมาปฏิบัติได้ก็เพียงพอแล้ว

จึงปรากฏให้เห็นเสมอ ที่นักศึกษาจากสถาบันนั้นคิดเก่งแต่ทำไม่ได้หรือบางคนจากสถาบันโน้นสร้างงานดีฝีมือเยี่ยม  แต่ความคิดก็อย่างงั้น ๆ  ส่วนผู้สำเร็จจากอีกสถาบันหนึ่งทั้งคิดทั้งทำไม่เอาไหนเลยก็มีมีบ่อยครั้งและค่อนข้างเกิดขึ้นมากในหมู่นักศึกษาศิลปะ กับผู้ที่ต้องการเป็นศิลปินอาชีพ พวกเขามักมองอนาคตค่อนข้างเลือนราง ไม่สามารถกำหนดทิศทางและบทบาทของตนเองได้ว่าจะเลือกเส้นทางใดดี ซึ่งบทบาทและหน้าที่ของศิลปินนั้นมีอยู่มากมายด้วยกัน  คือทำหน้าที่บันทึก  เป็นผู้จารึกบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในยุคสมัยที่ศิลปินมีชีวิตอยู่ การบันทึกนี้เป็นไปได้ทั้งมุมมองที่แคบและกว้าง  อาจเป็นทัศนะทางสุคติ หรือมองโลกในแง่ดีหรือทุคติซึ่งเป็นการมองโลกในแง่ร้ายหรือจะแง่สัมมาคติอันเต็มไปด้วยทรรศนะกลาง ๆ ก็ย่อมได้  การสะท้อนถ่ายในแนวนี้เป็นไปได้ทั้งแบบตรงไปตรงมา ดุจภาพสะท้อนของกระจกเงาหรือแฝงอารมณ์ความคิดเห็นของศิลปินลงไปก็ไม่ผิดกติกา ศิลปินผู้ทำหน้าที่ในแนวทางนี้มีอยู่มากในสังคมของชาวตะวันตกในปัจจุบัน ดังเช่นศิลปินกลุ่มป๊อบ อาร์ต กลุ่มสัจนิยมใหม่ กลุ่มแฮฟเพ็นนิ่ง ฯลฯ มีข้อน่าสังเกตอยู่บ้างก็คือศิลปินไทยเลือกเส้นทางนี้น้อยมาก

มีพัฒนาการบนพื้นฐานของความเป็นไทยลักษณะนิสัยที่อ่อนหวานละมุนละไม

24

ศิลปะไทย เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ซึ่งคนไทยทั้งชาติต่างภาคภูมิใจอย่างยิ่งความงดงามที่สืบทอดอันยาวนานมาตั้งแต่อดีต บ่งบอกถึงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น โดยมีพัฒนาการบนพื้นฐานของความเป็นไทย ลักษณะนิสัยที่อ่อนหวาน ละมุนละไม รักสวยรักงาม ที่มีมานานของสังคมไทย ทำให้ศิลปะไทยมีความประณีตอ่อนหวาน เป็นความงามอย่างวิจิตรอลังการที่ทุกคนได้เห็นต้องตื่นตา ตื่นใจ อย่างบอกไม่ถูก ลักษณะความงามนี้จึงได้กลายเป็นความรู้สึกทางสุนทรียภาพโดยเฉพาะคนไทยและศิลปะไทยยังตัดเส้นด้วยสีดำและสีน้ำตาลเท่านั้นเมื่อเราได้สืบค้นความเป็นมาของสังคมไทย พบว่าวิถีชีวิตอยู่กันอย่างเรียบง่าย มีประเพณีและศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาก่อน ดังนั้น ความผูกพันของจิตใจจึงอยู่ที่ธรรมชาติแม่น้ำและพื้นดิน สิ่งหล่อหลอมเหล่านี้จึงเกิดบูรณาการเป็นความคิด ความเชื่อและประเพณีในท้องถิ่น แล้วถ่ายทอดเป็นวัฒนธรรมไทยอย่างงดงาม ที่สำคัญวัฒนธรรมช่วยส่งต่อคุณค่าความหมายของสิ่งอันเป็นที่ยอมรับในสังคมหนึ่ง ๆ ให้คนในสังคมนั้นได้รับรู้แล้วขยายไปในขอบเขตที่กว้างขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่การสื่อสารทางวัฒนธรรมนั้นกระทำโดยผ่านสัญลักษณ์ และสัญลักษณ์นี้คือผลงานของมนุษย์นั้นเองที่เรียกว่า ศิลปะไทย

ปัจจุบันคำว่า “ศิลปะไทย” กำลังจะถูกลืมเมื่ออิทธิพลทางเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่สังคมเก่าของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกแห่งการสื่อสารได้ก้าวไปล้ำยุคมาก จนเกิดความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยอดีต โลกใหม่ยุคปัจจุบันทำให้คนไทยมีความคิดห่างไกลตัวเองมากขึ้น และอิทธิพลดังกล่าวนี้ทำให้คนไทยลืมตัวเราเองมากขึ้นจนกลายเป็นสิ่งสับสนอยู่กับสังคมใหม่อย่างไม่รู้ตัว มีความวุ่นวายด้วยอำนาจแห่งวัฒนธรรมสื่อสารที่รีบเร่งรวดเร็วจนลืมความเป็นเอกลักษณ์ของชาติเมื่อเราหันกลับมามองตัวเราเองใหม่ ทำให้ดูห่างไกลเกินกว่าจะกลับมาเรียนรู้ว่า พื้นฐานของชาติบ้านเมืองเดิมเรานั้น มีความเป็นมาหรือมีวัฒนธรรมอย่างไร ความรู้สึกเช่นนี้ ทำให้เราลืมมองอดีตตัวเอง การมีวิถีชีวิตกับสังคมปัจจุบันจำเป็นต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ที่วิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ถ้าเรามีปัจจุบันโดยไม่มีอดีต เราก็จะมีอนาคตที่คลอนแคลนไม่มั่นคง การดำเนินการนำเสนอแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนศิลปะในครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนการค้นหาอดีต โดยเราชาวศิลปะต้องการให้อนุชนได้มองเห็นถึง ความสำคัญของบรรพบุรุษ ผู้สร้างสรรค์ศิลปะไทย ให้เราทำหน้าที่สืบสานต่อไปในอนาคต

จุดเริ่มต้นของศิลปะ คือการที่มนุษย์ต้องประดิษฐ์และสร้างสรรค์ขึ้นมา

จุดเริ่มต้นของศิลปะ คือ การที่มนุษย์ต้องประดิษฐ์และสร้างสรรค์สิ่งอำนวยความสะดวก และเพื่อความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย สำหรับการดำรงชีพและความอยู่รอด ได้แก่ ที่พักอาศัยอย่างง่าย ๆ อาวุธที่สร้างขึ้นอย่างหยาบ ๆ สร้างภาชนะที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาอย่างง่าย ๆ ล้วนเป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์
เพื่อแก้ปัญหา และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นไปในลักษณะที่แตกต่างจากธรรมชาติ ในระยะต่อมา เมื่อมนุษย์ได้สัมผัสกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งบางเหตุการณ์เป็นสิ่งที่เหนือคำอธิบายได้ในยุคนั้น ด้วยความเกรงกลัวในอิทธิฤทธิ์อำนาจของสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ จึงได้เกิด
พิธีกรรมต่าง ๆ พัฒนามาเป็นลัทธิ ความเชื่อ จนกลายเป็นศาสนาในปัจจุบัน ศิลปะจึงได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นรากฐานและแรงบันดาล ใจให้มนุษย์ในสมัยต่อ ๆ มา สร้างงานที่มีลักษณะแปลก แตกต่าง และพัฒนาให้เกิด ผลงานที่ดีขึ้นต่อไป

การสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ เป็นการดำเนินการในลักษณะต่าง ๆเพื่อให้ เกิดสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สิ่งที่มีชีวิตเท่านั้นที่จะมีความคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ ความคิด สร้างสรรค์เป็นความคิดระดับสูง เป็นความสามารถทางสติปัญญาแบบหนึ่ง ที่จะคิดได้หลายทิศทาง
หลากหลายรูปแบบโดยไม่มีขอบเขต นำไปสู่กระบวนการคิดเพื่อสร้างสิ่งแปลกใหม่ หรือเพื่อการพัฒนา ของเดิมให้ดีขึ้นทำให้เกิดผลงานที่มีลักษณะเฉพาะตน เป็นตัวของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมี ชีวิตเพียงชนิดเดียวในโลก ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบในการดำรงชีวิต และสามารถพัฒนาสิ่งต่าง ๆให้ดีขึ้นกว่าเดิม รวมถึงมีความสามารถในการพัฒนาตน พัฒนาสังคม พัฒนาประเทศ และรวมถึงพัฒนาโลกที่เราอยู่ให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับมนุษย์มากที่สุด ในขณะที่สัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่มีวิวัฒนาการมาเช่นเดียวกับเรายังคงมีชีวิตความเป็นอยู่แบบเดิมอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของการพบที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้ถูกกระทำขึ้นมาโดยผ่าน “การค้นพบโดยบังเอิญ” หรือการค้นพบบางสิ่งขณะที่กำลังค้นหาบางสิ่งอยู่ การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การสร้างสรรค์อาจไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ถึงขนาดการพัฒนาบางสิ่งขึ้นมาให้กับโลกแต่มีอาจเกี่ยวข้องกับพัฒนาการบางอย่างให้ใหม่ขึ้นมา อาจเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อตัวของเราเอง เมื่อเราเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง เราจะพบว่าโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเรา และในวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เราได้มีประสบการณ์กับโลก ความคิดสร้างสรรค์จึงมีความหมายที่ค่อนข้างกว้างและสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับการผลิต การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ กระบวนการวิธีการที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ เราคาดหวังว่าความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้การดำเนินชีวิตและสังคมของเราดีขึ้น เราจะมีความสุขมากขึ้น โดยผ่านกระบวนการที่ได้ปรับปรุงขึ้นมาใหม่นี้ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

การสร้างสรรค์จะประสบความสำเร็จเป็นผลงานได้ นอกจากต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวกำหนดแนวทางและรูปแบบแล้ว ยังต้องอาศัยสามารถที่ยอดเยี่ยมของศิลปิน ซึ่งเป็นความ สามารถเฉพาะตน เป็นความชำนาญที่เกิดจากการฝึกฝนและความพยายามอันน่าทึ่ง เพราะฝีมืออันเยี่ยมยอดจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีความงามอันเยี่ยมยอดได้ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ แบ่งออกเป็น วัตถุดิบที่ใช้เป็นสื่อในการแสดงออก และเครื่องมือที่ใช้สร้างสรรค์ให้เกิดผลงาน ตามความชำนาญ ของศิลปินแต่ละคน แนวทางในการสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปินแต่ละคน อาจมีที่มาจากแนวทางที่ต่างกัน บางคนได้รับแรงบันดาลใจจากความงาม ความคิด ความรู้สึก ความประทับใจ แต่บางคนอาจสร้างสรรค์งานศิลปเพื่อแสดงออกถึงฝีมืออันเยี่ยมยอดของตนเอง เพื่อประกาศความเป็นเลิศอย่างไม่มีที่เปรียบปานโดยไม่เน้นที่เนื้อหาของงาน และบางคนอาจสร้างสรรค์งานศิลปจากการใช้วัสดุที่สนใจ โดยไม่เน้นรูปแบบและแนวคิดใด ๆ เลยก็ได้

ขั้นตอนในการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ

การจัดนิทรรศการนั้น นับได้ว่ามีการจัดกันมาเป็นเวลานานแล้วตั้งแต่โบราณ ตั้งแต่มนุษย์รู้จักนำเอาสิ่งที่มีอยู่หรือสิ่งที่หามาได้มาวางจัดแสดงให้ผู้อื่นได้รับรู้ โดยอาจเพื่อการแลกเปลี่ยน การอวด การซื้อขาย หรือเพื่อจุดประสงค์ใดก็ตาม จากนั้นจึงค่อย ๆ พัฒนารูปแบบการจัดแสดงดังกล่าวให้น่าดูน่าสนใจ เช่น มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อนการจัดแสดง มีการแยกหมวดหมู่ให้ง่ายแก่การรับรู้ จดจำ และทำความเข้าใจ มีการจัดสถานที่ด้วยแสงสีเสียงเพื่อสร้างบรรยากาศ ตลอดจนต้องมีการออกแบบ วางแผน ในการจัดแต่ละครั้งให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

การจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ จำเป็นต้องมีการวางแผนงาน เตรียมการ ดำเนินการ และวัดผลประเมินผลจนครบวงจร ซึ่งมีขั้นตอนการจัดนิทรรศการศิลปะโดยทั่วไป ดังนี้
1. การกำหนดวัตถุประสงค์และวางแผน ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด นั่นคือการเขียนโครงการจัดนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วยหลักการและเหตุผล (ประโยชน์และความจำเป็น) วัตถุประสงค์ เป้าหมาย (เชิงปริมาณและคุณภาพ) ขั้นตอนการดำเนินงาน ผู้รับผิดชอบ ระยะเวลา สถานที่ งบประมาณ การวัดผลประเมินผลและผลที่คาดว่าจะได้รับ (เมื่อสิ้นสุดโครงการ)
2. การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดนิทรรศการ โดยมีตำแหน่งประธาน รองประธาน เลขานุการ และกรรมการฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายสถานที่ พิธีการ ต้อนรับ การเงิน ประชาสัมพันธ์ โสตทัศนูปกรณ์ เป็นต้น
3. การเตรียมผลงานศิลปะ หรือการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเตรียมจัดแสดง รวมทั้งการติดการ์ด หรือใส่กรอบผลงาน
4. การประชาสัมพันธ์ เป็นการเชิญชวนให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนไปร่วมชมนิทรรศการทั้งในรูปแบบของการจัดทำแผ่นพับ โปสเตอร์ บัตรเชิญ ป้ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สื่อมวลชน
5. การเตรียมสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ เป็นการจัดเตรียมสถานที่ แสง เสียง บอร์ดแสดงผลงาน ไม้ประดับ โต๊ะ เก้าอี้ ริบบิ้นเปิดงาน สมุดเซ็นเยี่ยม และวัสดุอุปกรณ์ อื่นๆ
6. การจัดงานและพิธีการ เป็นการจัดกำหนดการพิธีการ และดำเนินการเปิดงานแสดงนิทรรศการ เช่น จัดทำ กำหนดการ คำกล่าวรายงาน คำกล่าวเปิดการนำชม การแสดงและการสาธิตผลงาน เป็นต้น
7. การวัดผลประเมินผล เป็นขั้นสุดท้ายที่ต้องการทราบผลการจัดนิทรรศการว่าบรรลุผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการหรือไม่ ซึ่งสามารถวิเคราะห์จากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้ชม จากสมุดเยี่ยมชม และจากที่ประชุมของคณะกรรมการ

พื้นที่จัดสรรของเหล่าศิลปิน อีกความเคลื่อนไหวในสังคมสร้างสรรค์ไทย


ศิลปะวัตถุและโบราณสถานเปรียบเสมือนแบบเรียนประวัติศาสตร์มีชีวิตที่บอกเล่าเรื่องราวความเจริญทางศิลปะวัฒนธรรมในอดีตของชนแต่ละชาติ แต่สำหรับอนาคต ศิลปะยุคสมัยใดจะสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปของสังคม หากไม่ใช่ปัจจุบัน นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และศูนย์วัฒนธรรมแล้ว “ชุมชนทางศิลปะ” อันหมายถึง พื้นที่ทั้งในแง่ของสถานที่และในเชิงความคิดที่ศิลปินมีโอกาสได้ทำงานและแสดงผลงานร่วมกัน ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ผลงานและการแสดงออกทางศิลปะแขนงต่างๆ ตลอดจนช่วยพัฒนาองค์ความรู้ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมและช่วยให้ศิลปะอันเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญในสังคมนั้นธำรงอยู่

ในต่างประเทศ บรรดาศิลปินทั้งมีชื่อและ(ยัง)ไม่มีชื่อมักจะเสาะหาที่พำนักราคาถูกเพื่อยึดเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานและพากันย้ายไปอยู่รวมกันจนกระทั่งเกิดเป็นกระแสและกลายเป็นชุมชนทางศิลปะในที่สุด ตัวอย่างที่เป็นโมเดลระดับโลกคือโรงงานทอฝ้ายเก่า Spinnerei ในเมือง Leipziger ประเทศเยอรมันและ 798 Art District โรงผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งหลังจากที่โรงงานทั้งสองแห่งเลิกใช้งานมาระยะหนึ่ง (และถูกทิ้งร้าง) มันก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสตูดิโอและแกลเลอรี่ เริ่มจากหนึ่งเป็นสิบจากสิบเป็นร้อย จนกระทั่งเกิดเป็นชุมชนทางศิลปะไปในที่สุด

สำหรับประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศที่จำนวนพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์สู้จำนวนห้างสรรพสินค้าไม่ได้ แต่ความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกับในต่างประเทศก็ได้เริ่มสร้างแรงกระเพื่อมขึ้นแล้ว เพราะบนพื้นที่ 3 ไร่ในซอยวิภาวดีรังสิต 64 คือ V64 Art Studio สตูดิโอขนาดเท่าโกดังเก็บสินค้าพร้อมด้วยแกลเลอรี่ 35 ห้องที่กำลังกลายร่างตั้งไข่เพื่อเป็น “ชุมชนทางศิลปะ” แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร

ด้วยความที่เป็นศิลปิน การบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องที่ถนัดนัก แต่คุณกิตติก็เชื่อว่าความศรัทธาในวิชาชีพบวกกับความตั้งใจที่จะเรียนรู้น่าจะช่วยให้พวกเขาสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้ “กระบวนการทำงานเริ่มจากการคุยกันในกลุ่มว่าใครจะมาร่วมทำบ้าง เมื่อรวมกลุ่มกันได้แล้วเราก็เริ่มหาสถานที่ ซึ่งมีหลายที่ที่เหมาะสม อย่างเช่น โกดังเก่าริมน้ำ แต่ดันติดปัญหาเรื่องราคา ติดต่อเจ้าของไม่ได้ ฯลฯ จนกระทั่งเรามาได้ที่นี่ พวกเราเริ่มทำงานจากที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการที่ต้องเรียนรู้เยอะมาก เช่นการเช่าสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาเช่าได้ ทำให้เราต้องไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องศึกษาทั้งเรื่องของกฎหมายและเรื่องนอกกฎหมายต่างๆ”

การจัดนิทรรศการมีการจัดที่แตกต่างกันออกไปและการจัดในสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน

การจัดแสดงหรือจุลนิทัศน์ หมายถึง นิทรรศการขนาดเล็กมากที่นำเสนอข้อมูล วัตถุสิ่งของผลงาน สินค้า หรือผลิตภัณฑ์บางส่วนพอเป็นตัวอย่างในสถานที่ที่มีการตกแต่งไว้อย่างสวยงามและเหมาะสม โดยเน้นเป็นพิเศษเพื่อเร้าใจให้ผู้ชมเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ในประเทศไทยกิจกรรมการจัดนิทรรศการ ได้จัดอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นยังใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า เอกซฮิปิเชน ครั้งที่ 1 นิทรรศการ เป็นการรวบรวมสิ่งของและวัสดุเป็นชุด ๆ เพื่อขมวดความคิดตามวัตถุประสงค์ทางการศึกษาหากเป็นกิจกรรมด้านการค้าการจัดนิทรรศการเป็นการแสดงผลงานสินค้า ผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมให้คนทั่วไปชม หรือเป็นการจัดแสดงสื่อที่รวบรวมได้แก่ชุมชน อาจเป็นผลงานศิลปะอุตสาหกรรมหรือการโฆษณาสินค้า นอกจากนี้อาจเป็นการรวบรวมงานประติมากรรมต่าง ๆ หรือสิ่งของอื่น ๆ เพื่อจัดแสดงในที่สาธารณชนที่ผู้คนสามารถเข้าไปชมได้ เป็นการสร้างความสนใจให้กับผู้ที่ผ่านไปผ่านมา การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ความคิด เร้าให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาซึ่งกระตุ้นให้มีการกระทำบางอย่าง

การจัดนิทรรศการเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับมนุษยชาติ แต่ในยุคแรกเริ่มอาจจะยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนแน่นอน ในยุคก่อนประวัติศาสตร์คงไม่มีชื่อเรียกว่า นิทรรศการ หรือ exhibition, fair, expo แต่อย่างใด อาจเป็นเพียงการจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ไว้ในที่ที่เคยวางเป็นประจำ การวาดภาพตามผนังถ้ำเพื่อถ่ายทอดความเชื่อ การนำสินค้ามาจัดแสดงเพื่อการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขาย ดังนั้นการนำเสนอประวัติของนิทรรศการจึงประกอบด้วยรายละเอียดตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการจัดนิทรรศการจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งภาพแสดงประวัติของนิทรรศการนิทรรศการเป็นสื่อที่มีคุณค่าและมีศักยภาพสูงในการดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ดีเนื่องจากความหลากหลายของสื่อสามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้ชมได้ดังนั้นนิทรรศการที่ดีจะมีอิทธิพลต่อผู้ชมในด้านความรู้ความเข้าใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอารมณ์และความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงเจตคติ รวมทั้งการตัดสินใจดังจะเห็นได้จากตัวอย่างนิทรรศการทางการศึกษา ทางการค้าและทางศิลปวัฒนธรรม

ความหลากหลายของสื่อผลงานศิลปินและนิทรรศการ

การจัดนิทรรศการเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่เข้าถึงผู้ชมได้ดี

สามารถให้ประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้ชมได้ใกล้เคียงกับประสบการณ์ตรง เพราะนิทรรศการให้โอกาสในการเห็นและการจับต้องสัมผัสหรือได้ยินเสียง ดังนั้นจึงทำให้ผู้ชมชื่นชอบหรือตื่นตัวในขณะชมนิทรรศการได้ ซึ่งในการจัดนิทรรศการเพื่อดึงดูดและเร้าความสนใจแก่ผู้ชม ตลอดจนสื่อความหมายหรือถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ชมได้ดีเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคการออกแบบและการจัดนิทรรศการว่าจะจัดทำได้ดีมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งในการจัดออกแบบจัดนิทรรศการนั้นมีขั้นตอน คือ การวางแผน การเตรียมการการออกแบบ และการดำเนินการ

นิทรรศการ เป็นวิธีส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมกันอย่างมีระบบ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ การศึกษา และร่วมกิจกรรม ดังนั้นวัตถุสิ่งของที่จะนำมาจัดแสดงควรผ่านการพิจารณาในด้านคุณสมบัติบางประการเสียก่อน เพื่อให้นิทรรศการมีผลที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการเลือกใช้วัสดุสิ่งของใดๆมาจัดแสดงนั้น ผู้จัดจะต้องมีความมั่นใจว่าสื่อนั้นมีความเหมาะสมถูกต้อง และดีพอที่จะทำให้ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของนิทรรศการ และจะต้องมั่นใจว่าสิ่งที่นำมาจัดนั้น สามารถเข้ากับพื้นที่จำกัดของบริเวณงานแสดงได้

ผู้จัดงานจะต้องรู้และเข้าใจในการออกแบบนิทรรศการ จะต้องเข้าใจนโยบาย เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของหน่วยงานเสียก่อน จากนั้นจึงรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะจัดแสดง ระยะเวลา ความร่วมมือจากชุมชนและอื่นๆ ก่อนพิจารณาข้อจำกัดและเงื่อนไขทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน แล้วจึงคัดเลือกวิธีการที่จะดำเนินการ โดยวิเคราะห์ทางปฏิบัติที่น่าจะเป็นไปได้ในการทบทวนเพื่อหาความมั่นใจหรือหาข้อบกพร่องในทุกด้าน แล้วบันทึกการดำเนินการโดยละเอียดเพื่อจะได้ทำการประเมินผลภายหลังว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์เพียงใด

นิทรรศการที่ดีจะมีอิทธิพลต่อผู้ชมในด้านความรู้ความเข้าใจ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอารมณ์และความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงเจตคติ รวมทั้งการตัดสินใจดังจะเห็นได้จากตัวอย่างนิทรรศการทางการศึกษา ทางการค้าและทางศิลปวัฒนธรรม เป็นสื่อที่มีคุณค่าและมีศักยภาพสูงในการดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ดีเนื่องจากความหลากหลายของสื่อสามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้ชมได้ ดังนั้นการออกแบบจัดนิทรรศการคือกระบวนการคิดสร้างสรรค์นำสิ่งที่มีอยู่มาจัดแสดงให้มีความแปลกใหม่จากการรับรู้โดยทั่วไป เช่น การจัดมุมมอง การจัดแสง สี เสียง ประกอบการรับรู้ การสร้างบรรยากาศกระตุ้นเร้าความสนใจ

บ้านศิลปิน หัวหิน ก่อตั้งขึ้นจากความรักในงานศิลป์

ถ้าหากจะพูดว่าหัวหินเป็น ถิ่นที่มีมนต์ขลังอยู่มิเสื่อมคลาย ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะตั้งแต่ในอดีตมาจนปัจจุบันนี้ ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องมนต์เสน่ห์ของหัวหินจนต้องแวะเวียนกลับมา เยี่ยมเยือนกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการมาพักผ่อนหย่อนใจริมชายหาด หรือจะมาหากิจกรรมอื่นๆ ทำร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัว และการมาหัวหินของเราคราวนี้ เราก็มีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมหัวหินในอีกแง่มุม ที่ต่างออกไปจากภาพชายหาดริมทะเล

ห่างจากตัวเมืองหัวหินออกมาไม่ไกลนัก เราก็จะมาถึง “บ้านศิลปิน หัวหิน” สถานที่ซึ่งเหล่าศิลปินจากเมืองหัวหินได้มารวมตัวกันอยู่ภายใต้บรรยากาศอัน ร่มรื่น เย็นสบาย โดยหมู่บ้านศิลปินแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นจากความรักในงานศิลป์ของ คุณชุมพล ดอนสกุล นักสะสมงานศิลปะ และอาจารย์ทวี เกศางาม ศิลปินสีน้ำฝีมือเยี่ยมของไทย ซึ่งทั้งสองร่วมกันชักชวนกลุ่มศิลปินมารวมกลุ่มกันบนพื้นที่แห่งนี้ ที่ถูกจัดสรรให้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้งยังจัดให้มีพื้นที่ในการแสดงงานศิลปะ และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย นับจากวันที่ก่อตั้งในปี 2547 นั้น ปัจจุบันหมู่บ้านศิลปินก็เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังถูกจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญด้านศิลปะวัฒนธรรม ของเมืองหัวหิน ในปี 2550 ด้วย

เพียงแค่ก้าวเข้ามาในบริเวณ เราก็จะสัมผัสได้ถึงวิถีแบบชาวบ้านของคนในหมู่บ้านศิลปินทันที ถึงแม้โครงสร้างบ้านจะเรียบง่าย แต่ก็แอบแฝงไปด้วยมุมมองตามสไตล์ของศิลปินแต่ละคน ในแต่ละมุมมีผลงานทางศิลปะอีกหลายชิ้นทั้งของมืออาชีพ และมือสมัครเล่น ถูกจัดวางโชว์ไว้ให้ทุกคนได้ชื่นชมกันแบบไม่มีหวง ส่วนใครที่ไม่ได้รีบร้อนไปที่ไหนต่อ ก็สามารถแวะนั่งพักจิบกาแฟหอมกรุ่น เคล้าเสียงดนตรีเบาๆ ที่เหล่าศิลปินผลัดเปลี่ยนกันนำมาบรรเลง ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้พักทอดอารมณ์ ชื่นชมไปกับบรรยากาศรอบๆ ข้างได้อิ่มเอมมากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าหากได้แวะเวียนมาในวันเสาร์แล้วล่ะก็ รับรองว่าหลายๆ คนคงได้เพลิดเพลินกันจนลืมเลือนเวลากันเลยทีเดียว เพราะ “ตลาดนัดงานศิลป์ ” ที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์นั้น จะมีทั้งดนตรี การแสดง การออกร้านขายของ มายากล รวมถึงกิจกรรมสอนวาดรูป เพ้นท์เสื้อ ผ้าพันคอ หน้ากาก ฯลฯ ส่วนในห้องจัดแสดง หรือหอศิลป์ ซึ่งเปรียบได้กับห้องรับแขกของหมู่บ้านนั้น ก็เปิดต้อนรับทุกคนด้วยบรรยากาศแบบเป็นกันเอง ภายในมีทั้งงานภาพเขียนสีน้ำมัน สีน้ำ สีอะครีลิค ขนาดต่างๆ วางโชว์อยู่มากมาย ซึ่งผลงานที่ถูกนำมาจัดแสดงนั้น มีตั้งแต่ผลงานของศิลปินชั้นครู ไปจนถึงศิลปินร่วมสมัย